ู☻ู

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

“ เขายายเที่ยง ” ปมร้อนที่ดินทำกินในเขตป่า



เีรื่อง : จันทร์จิรา พงษ์ราย

“เมื่อหมดภาระการเป็นนายกรัฐมนตรี จะมาใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเขายายเที่ยง เพราะมาแล้วสบายใจ อยู่กับธรรมชาติ อายุมาก อยู่กับต้นไม้ต้นไร่ มันไม่ทำร้ายเรา” 
คำบอกเล่าของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี  เกิดขึ้นในระหว่างการพาสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล  เข้าเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ ของบ้านพักตากอากาศบนเขายายเที่ยง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในช่วงปี 2551 โดยเฉพาะบริเวณชะง่อนผาใต้ต้นไทร มุมโปรดของอดีตนายกรัฐมนตรี   เพราะสามารถมองเห็นจุดชมวิวของเขื่อนลำตะคอง และ อ.ปากช่องได้ทั้งหมด
แต่วันนี้ความฝันของพลเอกสุรยุทธ์ ที่จะมาใช้ชีวิตบนบ้านพักเขายายเที่ยง ต้องจบลงทันที
หลังจากที่ดินแปลงที่  49 เนื้อที่ประมาณ 13.50 ไร่ บนเขายายเที่ยง ซึ่งพลเอกสุรยุทธ์ เคยครอบครองมานานกว่า 7 ปี มีคำตัดสินจากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน  ด้วยเหตุผลว่า เป็นผู้ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว  ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2518  ที่กรมป่าไม้เคยจัดสรรให้กับเกษตรกรเข้าทำกินราว 230 ครอบครัว รวมพื้นที่ 1,020 ไร่ บริเวณเขายายเที่ยง ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่ง ชาติ ป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ในสมัยนั้น 
สาระของโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรี  29 เม.ย.2518 บนเขายายเที่ยง  คือการจัดสรรที่ดินนอกเขตต้นน้ำให้ครอบครัวละไม่เกิน  15 ไร่  โดยมิให้กรรมสิทธิ์  แต่ ให้สิทธิตกทอดถึงทายาทโดยทางธรรมได้เป็นการถาวรตลอดไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้นายทุนเข้ามาครอบครองโดยวิธีกว้านซื้อ โดย กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้นจะออกใบอนุญาตชั่วคราวให้เข้าอยู่ในพื้นที่  รวมทั้งการให้จ้างแรงงานจากหมู่บ้านป่าไม้ให้ปลูกป่าด้วย
ดังนั้นคำตัดสิน ของกรมป่าไม้ในกรณีพลเอกสุรยุทธ์ จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง  แม้เหตุผลหลักในการทำงานอย่างรวดเร็วเพียงแค่ 1 สัปดาห์ จะมีแรงกดดันจากทางการเมือง ของกลุ่มเสื้อแดงที่อยู่เบื้องหลังก็ตาม 
ทว่าผลลัพท์ที่เกิดขึ้น และปฏิกิริยาของชาวบ้านในเขตเขายายเที่ยงกว่า 230 ครอบครัวที่เป็นห่วงว่าจะถูกใช้มาตรการเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี  ก็เริ่มแนวโน้มบานปลายเป็นสงครามเย็น  เพราะตลอด 2 สัปดาห์ หลังการลงพื้นที่รอบแรก ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเตียน-ป่าเขาเขื่อนลั่น จ.นครราชสีมา  นำโดยนายชลธิศ สุรัสวดี  รองอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งมีข้อสรุปให้คณะ อนุกรรมการเพื่อตรวจสภาพการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนฯ เปิดจุดรับแจ้งการครอบครองในพื้นที่ ในระยะเวลา 10 วัน   
แต่ในทางปฏิบัติพบปัญหามากมาย ถึงขนาด   สุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร  ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่  8  ยอมรับว่า   การทำงานในพื้นที่เป็นไปด้วยความยุ่งยาก  เนื่อง จากชาวบ้านไม่มั่นใจว่าจะถูกกรมป่าไม้ใช้ หลักการเดียว กับกรณีของพลเอกสุรยุทธ์ ซึ่งเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ยังต้องคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ ดังนั้น จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดการถือ ครองของชาวบ้านที่ได้จัดสรรที่ดินในโครงการหมู่บ้านป่าไม้  ตามมติครม. 29 เม.ย.2518 
“การเปิดศูนย์ให้ชาวบ้านแจ้งสิทธิ์การถือครองที่ดินบนเขายายเที่ยง ตั้งแต่วันที่ 21-31 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่าไม่มีชาวบ้านสักรายเดียวที่มาจดแจ้งข้อมูลกับราชการเลย  เนื่องจากไม่มั่นใจว่าหากให้ข้อมูลไปแล้วว่าได้รับผลกระทบอะไรตามมา   เรื่องนี้ส่งผลต่อการทำงานมาก  แม้ แต่การลงพิกัดแปลงต่างๆชาวบ้านก็ไม่ยอมมาพูดคุย หรือให้ข้อมูลอะไรเลย จึงต้องปรับแผนการทำงานใหม่ โดยเฉพาะการตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครองตามแปลงต่างๆที่ขีดไว้  ซึ่งจะใช้วิธีทางอ้อมด้วยการนำรายชื่อเดิม  มาเทียบกับรายชื่อตามทะเบียนราษฎร์ หรือการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ทบ.5) มาตรวจสอบตรงจุดนี้แทน” สุเทพ กล่าว
เขาบอกอีกว่า  เบื้องต้นที่ดินบนเขายายเที่ยง มีการเปลี่ยนมือผู้ครอบครองรายเดิมไปเกือบหมดแล้ว จากข้อมูลในปี 2520 สมัยนั้นกรมป่าไม้  แบ่งผังแปลงออกเป็น 2 ส่วนกล่าวคือพื้นที่ราว  1,020 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินทำกิน 76 แปลง  ส่วนอีก 161 แปลง รวมพื้นที่ 79 ไร่ ถูกตีผังแปลงเป็นที่อยู่อาศัยครอบคลุม 3 หมู่บ้านคือเขายายเที่ยงเหนือ 77 แปลง พื้นที่ 42 ไร่ เขายายเที่ยงใต้ 67 แปลง พื้นที่ 30 ไร่ และบ้านเขาน้อย 23 แปลงพื้นที่ 6 ไร่ แม้จะรู้ว่ามีการเปลี่ยนมือไปยังผู้ครอบครองรายใหม่ แต่กรมป่าไม้ ยังคงต้องมีมาตรการแก้ปัญหาที่ชัดเจนก่อน เพราะเขายายเที่ยง อาจจะใช้เป็นโมเดล กับกรณีการครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งอื่นๆด้วย
สอดคล้องกับข้อกังวลของ นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้  ที่ เคยบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าจำเป็น ต้องหามาตรการที่ชัดเจนเสียก่อน เนื่องจากขณะนี้มีข้อเรียกร้องของกลุ่มร้องเรียนปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า สงวนแห่งชาติ ตามมติครม. 30 มิ.ย.2541 ทั้งจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน เครือข่ายสถาบันเกษตรกร สมัชชาเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 9 กลุ่ม 33 รวมพื้นที่ 5.78 ล้านไร่ และมีผู้เข้าไปครอบครองราว 4.5 แสนราย ซึ่งยังไม่นับรวมพื้นที่ที่เคยมอบให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินอีก 4 แสนกว่าราย รวมพื้นที่ประมาณ 6.39 ล้านไร่ ขณะที่ปัจจุบันมีป่าสงวนแห่งชาติ ที่กรมป่าไม้รับผิดชอบอยู่ 78 ล้านไร่จากป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 143 ล้านไร่ 
ข้อสรุปจากพื้นที่  “เขายายเที่ยง”   จึงไม่ได้หมายความแค่กรณีพื้นที่บ้านพักของพลเอกสุรยุทธ์ เพียงรายเดียว แต่จะนำไปสู่การสร้างบันทัดฐานการถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศที่รออยู่ด้วย
เช่นเดียวกับคำมั่นสัญญาของ  ชลธิศ เขาบอกว่า จะ ให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินและมีฐานะยากจน ได้อยู่ในพื้นที่เขายายเที่ยง โดยเฉพาะผังแปลงที่ถูกขีดเป็นที่อยู่อาศัยใน 3 หมู่บ้าน  จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ทั้งนี้กรมป่าไม้ จะมีมาตรการดูแลคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ  ส่วนคนที่มีฐานะร่ำรวย และไม่ได้ สิทธิ์ครอบครอง ตามมติครม. และอยู่ในพื้นที่กระทบต่อนิเวศน์ก็ต้องใช้อีกมาตรการหนึ่งเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กรมป่าไม้ จะเอาจริงกับการปัญหาการยึดครองพื้นที่ของคนรวยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  เพราะจากการสำรวจพื้นที่บริเวณทางขึ้นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียนฯ พบว่ามีการติดป้ายประกาศขายที่ดินบริเวณเขายายเที่ยงใต้  และเขายายเที่ยงเหนือหลายแห่ง  โดยป้ายดังกล่าวมีการแจ้งเบอร์โทรติดต่อไว้  ขณะเดียวกันพบว่าตลอดทางมีรีสอร์ทขนาดเล็ก ขนาดกลาง และโฮมสเตย์ที่อยู่ระหว่างการก่อ สร้าง  และที่สร้างแล้วเสร็จผุดขึ้นตลอดเนินทางขึ้นเขายายเที่ยง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมบ้านพักตากอากาศของผู้มีฐานะดีอีกหลายแห่ง   
เมื่อทดลอง โทรศัพท์เข้าไปสอบถามเรื่องการขายที่ดิน จากที่มีการติดป้ายประกาศเอาไว้  เจ้า ของที่ดินระบุว่าต้องการจะขายที่ดินดังกล่าวจริง พื้นที่ประมาณ 2-5 ไร่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในผังที่มีปัญหาการตรวจสอบการครอบครองในตอนนี้ และระบุว่าราคาเฉลี่ยของที่ดินในเขายายเที่ยงใต้ ตกไร่ละ 4-5 แสนบาท แต่ขอรอดูท่าทีของกรมป่าไม้ก่อน เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการสำรวจของกรมป่าไม้
“เขายายเที่ยง” จึงถือเป็นความท้าทายการจัดการปัญหาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น