ู☻ู

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การสำรวจเส้นทาง

ยุคแห่งการสำรวจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่การเดินทางของมาร์โค โปโล (ค.ศ. 1271-ค.ศ. 1295)
ยุคแห่งการสำรวจ หรือ ยุคแห่งการค้นพบ (อังกฤษ: Age of Exploration หรือ Age of Discovery) เป็นช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์โลกที่เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ชาวยุโรปออกเดินทางไปสำรวจทางทะเลในโลกที่กว้างออกไปจากตัวทวีปยุโรปเองโดยมีจุดประสงค์เพื่อหาคู่ค้าขายใหม่ และโดยเฉพาะเพื่อการแสวงหาสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาดตามต้องการ สินค้าที่เป็นที่ต้องการกันมากในยุโรปในขณะนั้นคือทอง เงิน และ เครื่องเทศ
ยุคแห่งการสำรวจประจวบกับช่วงที่ชาวยุโรปตะวันตกเริ่มใช้เข็มทิศในการกำหนดและระบุเส้นทาง, การใช้วิธีการเดินเรือเดินทะเลแบบใหม่, การมีแผนที่ใหม่ และความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ ความก้าวหน้าเหล่านี้ช่วยในการแสวงหาเส้นทางการค้าขายใหม่ไปยังเอเชียโดยเลี่ยงอุปสรรคถ้าการใช้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมหาอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่วิวัฒนาการขึ้นสำหรับการเดินทางทางทะเลคือเรือชนิดใหม่สองแบบที่ออกแบบโดยโปรตุเกส--เรือคาร์แร็ค (Carrack) และ เรือคาราเวล (Caravel) ที่วิวัฒนาการมาจากการออกแบบเรือในยุคกลางที่ใช้ในการเดินเรือในทะเลเหนือและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เรือสองชนิดนี้เป็นเรือสองชนิดแรกที่ให้ความปลอดภัยพอที่จะฝ่าคลื่นฝ่าลมในมหาสมุทรแอตแลนติกได้เมื่อเทียบกับเรือรุ่นก่อนหน้านั้นที่ใช้กันเฉพาะในบริเวณที่คลื่นลมไม่รุนแรงเทียบเท่ากับการเดินทางกลางมหาสมุทร

เนื้อหา

[ซ่อน]

[แก้] การสำรวจทางบก

ก่อนหน้าที่จะถึงยุคแห่งการสำรวจก็ได้มีชาวยุโรปที่ได้ทำการเดินทางโดยทางบกจากยุโรปไปยังเอเชียหลายครั้งในสมัยยุคกลางตอนปลาย[1] ขณะที่การรุกรานของมองโกลในยุโรปเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของความมั่นคงในยุโรปโดยการปล้นสดมและการทำลายต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐมองโกลต่างๆ ในบริเวณส่วนใหญ่ของยูเรเชียเป็นการทำให้เกิดเส้นทางการค้าขายและการคมนาคมที่ติดต่อกันตั้งแต่จากตะวันออกกลางไปจนถึงเมืองจีน[2] ชาวยุโรปหลายกลุ่มก็ถือโอกาสใช้เส้นทางเหล่านี้ในการเดินทางไปสำรวจทางตะวันออก ผู้เดินทางเกือบทั้งหมดในช่วงแรกเป็นชาวอิตาลีเพราะการค้าขายระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางแทบทั้งหมดตกอยู่ในมือของพ่อค้าจากนครรัฐต่างๆ ในอิตาลี นอกจากนั้นการที่อิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการค้าขายกับบริเวณลว้านก็ยิ่งเป็นการทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจทางด้านการค้าในดินแดนที่ไกลออกไปจากนั้น การสำรวจนอกจากจะมีเหตุผลมาจากความต้องการทางการค้าแล้วก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ เช่นการสำรวจของผู้นำคริสเตียนเช่นเจ้าชายเฮนรีนักเดินเรือก็เริ่มนำคณะสำรวจเพื่อหวังที่จะหาผู้ที่จะหันมานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มขึ้น ฉะนั้นสาเหตุของการออกทำการสำรวจจึงมีด้วยกันหลายประการ
นักเดินทางคนแรกในกลุ่มนี้ก็ได้แก่จิโอวานนิ ดา ปาน เดล คาร์ปิเน (Giovanni da Pian del Carpine) จากอุมเบรียผู้เดินทางไปยังมองโกเลียระหว่างปี ค.ศ. 1241 ถึงปี ค.ศ. 1247[2] แต่นักเดินทางคนสำคัญที่สุดและมีชื่อที่สุดก็เห็นจะเป็นมาร์โค โปโลผู้บันทึกการเดินทางของการสำรวจไปทั่วเอเชียตั้งแต่ ค.ศ. 1271 จนถึง ค.ศ. 1295 และบรรยายว่าได้มีโอกาสเข้าไปในราชสำนักของราชวงศ์หยวนของกุบไล ข่าน การเดินทางของมาร์โค โปโลบันทึกในหนังสือชื่อ “บันทึกการเดินทาง” ซึ่งเป็นหนังสือที่แพร่หลายและอ่านกันไปทั่วยุโรป ในปี ค.ศ. 1439 นิคโคโล เด คอนติ (Niccolò de' Conti) ก็พิมพ์บันทึกการเดินทางไปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี ค.ศ. 1466 ถึงปี ค.ศ. 1472 พ่อค้าชาวรัสเซียอฟานาซิ นิคิติน (Afanasy Nikitin) ก็เดินทางไปอินเดียและเขียนบรรยายไว้ในหนังสือ “การเดินทางเลยไปจากสามทะเล” (A Journey Beyond the Three Seas)
แต่การเดินทางเหล่านี้ก็มีได้มีผลทันที จักรวรรดิมองโกลล่มสลายอย่างรวดเร็วเกือบทันทีที่ก่อตั้งเสร็จ ไม่นานหลังจากนั้นเส้นทางการเดินทางไปยังตะวันออกก็ทำได้ยากขึ้นและเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น นอกจากนั้นกาฬโรคระบาดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินทางและการค้าต้องมาหยุดชะงักลง[3] เส้นทางไปยังตะวันออกทางบกควบคุมโดยการค้าขายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจักรวรรดิอิสลามผู้ควบคุมทั้งการขนย้ายและการตั้งราคาสินค้า การขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จำกัดการเดินทางค้าขายทางบกข้ามทวีปโดยชาวยุโรป

[แก้] โปรตุเกสเป็นผู้นำ

การที่เส้นทางสายไหม และ เส้นทางเครื่องเทศ (Eastern) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าอันสำคัญไปยังตะวันออกถูกปิดลงโดยจักรวรรดิออตโตมันเป็นปัจจัยในการเริ่มการสำรวจเพื่อหาเส้นทางการค้าไปยังตะวันออกทางทะเลใหม่โดยการเดินเรือรอบแอฟริกา
ภาพแสดงเส้นทางที่ใช้โดยวาสโก ดา กามาในการเดินทางไปอินเดีย (ดำ) นักเดินทางสำรวจคนแรกที่เดินทางรอบแอฟริกา และการเดินทางของ Pêro da Covilhã (ส้ม) และ อฟอนโซ เด ไพวา (Afonso de Paiva) (น้ำเงิน) เส้นทางที่ทับกันเป็นสีเขียว
การเดินทางเพื่อการสำรวจหาเส้นทางค้าขายทางทะเลใหม่ไปยังเอเชียมิได้เริ่มขึ้นโดยชายยุโรปอย่างจริงจังจนมากระทั่งเมื่อมีการวิวัฒนาการเรือคาร์แร็ค และต่อมา เรือคาราเวลขึ้น[4] สาเหตุที่กระตุ้นการริเริ่มการสำรวจเกิดขึ้นหลังจากการยึดคอนสแตนติโนเปิลโดยชนเตอร์กในปี ค.ศ. 1453 จากนั้นจักรวรรดิออตโตมันก็มีอำนาจควบคุมการค้าขายในบริเวณนั้น และกีดกันชาวยุโรปบจากการใช้เส้นทางเส้นทางสายไหม หรือ การค้าขายไหมและการค้าเครื่องเทศ และเส้นทางการค้าขายผ่านทางแอฟริกาเหนือที่มีความสำคัญสำหรับยุโรปในการเป็นเส้นทางการค้าผสมระหว่างทางบกและทางทะเลผ่านทางทะเลแดงไปยังเอเชีย ทั้งเครื่องเทศและไหมเป็นธุรกิจใหญ่ในยุคนั้น และรวมทั้งเครื่องเทศที่ใช้ประโยชน์ทั้งในการถนอมอาหารและปรุงรสซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างน้อยก็สำหรับผู้มีฐานะดีหรือผู้มีอันจะกิน

[แก้] สมัยการสำรวจตอนต้นระหว่าง ค.ศ. 1419 ถึง ค.ศ. 1498

การเดินทางสำรวจในระยะแรกนำโดยโปรตุเกสภายใต้การนำของเจ้าชายเฮนรีนักเดินเรือ การเดินเรือของชาวยุโรปก่อนหน้าการเดินทางของเจ้าชายเฮนรีส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางเลียบฝั่งทะเล ถ้าเดินทางไกลออกไปโดยไม่เห็นแผ่นดินก็จะเดินตามเส้นทางใช้กันมาแล้วที่บรรยายอย่างละเอียดในแผนที่เดินเรือพอร์โทลาน แผนที่เดินเรือพอร์โทลานแสดงรายเอียดทางลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแผ่นดินที่ทำให้นักเดินเรือสามารถบอกถึงจุดที่เริ่มเดินทางได้ และเดินทางตามเข็มทิศและสามารถบอกได้ว่าเดินทางตรงตามเส้นทางหรือหันเหจากเส้นทางจากโดยการเปรียบเทียบลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เห็นว่าเหมือนกับหรือต่างจากที่บรรยายไว้ในแผนที่ แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการผิดพลาด นักเดินเรือชาวยุโรปจึงพยายามเดินทางเลียบฝั่งทะเลโดยตลอดและพยายามเลี่ยงการเดินเรือที่มองไม่เห็นฝั่งทะเลเป็นเวลานานๆ นอกจากนั้นการเดินทางไกลออกไปจากฝั่งก็ยังเป็นการเสี่ยงต่อตำนานลึกลับต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรายทะเลสัตว์ทะเลต่างๆ หรือการตกขอบโลกซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้นักเดินเรือสยองขวัญกันไปตามๆ กัน การเดินเรือของเจ้าชายเฮนรีจึงเป็นการท้าทายความเชื่อต่างๆ ที่ว่านี้ ในปี ค.ศ. 1419 เจ้าชายเฮนรีก็ทรงพบหมู่เกาะมาเดราในมหาสมุทรแอตแลนติก และในปี ค.ศ. 1427 อาโซเรช (Azores) โปรตุเกสยึดดินแดนทั้งสองที่พบเป็นอาณานิคม
จุดมุ่งหมายหลักของเจ้าชายเฮนรีในการเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสำรวจฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของแอฟริกา และเขียนแผนที่เดินเรือพอร์โทลาน นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลข้างเคียงที่รวมทั้งเหตุผลทางการค้า และทางศาสนา เป็นเวลาหลายศตวรรษเส้นทางการค้าขายที่เชื่อมแอฟริกาตะวันตกกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเส้นทางที่ต้องเดินผ่านทางด้านตะวันตกของทะเลทรายซาฮารา เส้นทางนี้เป็นเส้นทางการค้าขายทาสและทองที่ควบคุมโดยรัฐอิสลามในแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของทั้งโปรตุเกสและสเปน พระมหากษัตริย์โปรตุเกสจึงทรงหวังที่จะหาทางเลี่ยงการค้าขายที่ต้องผ่านรัฐอิสลามโดยการค้าโดยตรงกับแอฟริกาตะวันตกทางทะเล และรัฐเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็นรัฐคริสเตียนซึ่งทำให้เป็นพันธมิตรในการต่อต้านรัฐอิสลามในมาเกร็บ[5] ในปี ค.ศ. 1434 นักสำรวจชาวโปรตุเกส Gil Eanes ก็สามารถพิชิตอุปสรรคของแหลมโบฮาดอร์ (Cape Bojador) ได้ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1455 พระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ก็ทรงออกพระบัญญัติโรมานัสพอนทิเฟ็กซ์” (Romanus Pontifex) ที่ระบุว่าประเทศใดที่พบที่ไกลไปจากแหลมโบฮาดอร์เป็นของโปรตุเกส[6]
ภายในยี่สิบปีการสำรวจของโปรตุเกสก็ทำให้สามารทำการค้าขายทาสและทองได้โดยตรงกับคู่การค้าที่ปัจจุบันคือเซเนกัล และมีการสร้างป้อมการค้าขึ้นที่เอลมินา (Elmina) แหลมแวร์เด (Cape Verde) กลายเป็นอาณานิคมผู้ผลิตน้ำตาลเป็นแห่งแรก[7] ในปี ค.ศ. 1482 การสำรวจภายในการนำของ Diogo Cão ก็ทำให้เกิดการติดต่อกับราชอาณาจักรคองโก[8] จุดสำคัญที่เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อในปี ค.ศ. 1487 เมื่อบาร์โตโลมิว ดิอัซ (Bartolomeu Dias) เดินทางรอบแหลมกูดโฮพ และพบว่าเป็นทางที่ใช้เดินทางติดต่อกับมหาสมุทรอินเดียได้จากด้านมหาสมุทรแอตแลนติก การสำรวจทางบกของ Pero da Covilha ทำให้ได้ข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับทะเลแดงและฝั่งทะเลเควเนีย ในปี ค.ศ. 1498 วาสโก ดา กามาเดินทางไปถึงอินเดีย
ในขณะเดียวกันดิโอโก ซิลเวสก็พบซานตามาเรีย ในปี ค.ศ. 1427 และในปีต่อๆ มาโปรตุเกสก็พบเกาะอื่นในหมู่เกาะอาโซเรช เกาะเทอร์เซรา (Terceira island) กลายมาเป็นฐานทางการเดินเรือสำหรับการสำรวจใน เทอรราโนวา และนิวฟันด์แลนด์ โดยพี่น้อง คาร์เท รีอาล (Corte Real) ราวปี ค.ศ. 1500 และจากปากคำของบิดาของ คาร์เท รีอาล กล่าวว่า โจเอา วาซ (João Vaz) เป็นผู้พบทวีปอเมริกาในการเดินทางสำรวจจครั้งหนึ่งก่อนหน้าโคลัมบัส

[แก้] การค้นพบโลกใหม่

แผนที่การเดินเรือคานทิโน พลานิสเฟียร์ (Cantino planisphere) (ค.ศ. 1502) ซึ่งเป็นแผนที่การเดินเรือที่เก่าที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ของโปรตุเกสที่แสดงผลของการเดินทางสำรวจของวาสโก ดา กามาไปยังอินเดีย, คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสไปยังทวีปอเมริกา, กาสปาร์ คอร์เต-Realไปยังนิวฟันด์แลนด์ และ เปดรู อัลวาเรซ กาบรัลไปยังบราซิล และเส้นเมอริเดียนของเมืองทอร์เดซิลลาส (Tordesillas) ที่แยกครึ่งโลกของโปรตุเกสและสเปน
คู่อริของโปรตุเกสคาสตีล (อาณาจักรก่อนหน้าที่จะมาเป็นราชอาณาจักรสเปน) เริ่มการสำรวจมหาสมุทรแอตแลนติกช้ากว่าราชอาณาจักรเพื่อนบ้าน การสำรวจไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากการรวมราชบัลลังก์คาสตีล และ ราชบัลลังก์อารากอน หลังจากเสร็จสิ้นจาก “การพิชิตดินแดนคืน” สเปนจึงเข้าเริ่มการเส้นทางการค้าขายใหม่และอาณานิคมโพ้นทะเลอย่างเต็มตัว ในปี ค.ศ. 1492 กษัตริย์และกษัตรีย์แห่งสหราชอาณาจักรสเปนก็พิชิตอาณาจักรอีเมียร์แห่งกรานาดาได้ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่แต่เดิมเป็นแหล่งสินค้าจากแอฟริกาโดยการส่งบรรณาการ สเปนตัดสินใจให้ทุนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในการนำขบวนการสำรวจ โดยหวังว่าการเดินทางไปยังเอเชียโดยการเดินทางไปทางตะวันตกแทนที่จะไปทางตะวันออกจะเป็นการเลี่ยงการที่จะต้องเดินทางผ่านแอฟริกาที่ควบคุมโดยโปรตุเกสได้[9]
โคลัมบัสมิได้พบเส้นทางไปยังเอเชียแต่ไปพบดินแดนที่ชาวยุโรปมาเรียกกันว่า “โลกใหม่” ซึ่งก็คือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1500 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเปดรู อัลวาเรซ กาบรัลก็เดินทางไปสำรวจดินแดนในอเมริกาใต้ที่ปัจจุบันเรียกว่าบราซิล การเลี่ยงเส้นทางที่ไม่ให้ทับกันระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างสองราชอาณาจักร[10] ในที่สุดพระสันตะปาปาก็เข้ามาแก้ไขปัญหาในปี ค.ศ. 1494 ในข้อตกลงในสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส (Treaty of Tordesillas) ที่แบ่งโลกระหว่างสองมหาอำนาจ โปรตุเกส “ได้รับ” ทุกอย่างนอกยุโรปทางตะวันออกของเส้นที่แล่น 270 ลีก (League) ทางตะวันตกของหมู่เกาะแหลมแวร์เดที่ทำให้โปรตุเกสมมีอิทธิพลในการควบคุมแอฟริกา, เอเชีย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกา (บราซิล) ส่วนสเปนได้ทุกอย่างทางตะวันตกของเส้นแบ่งที่ระบุ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินแดนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจที่มารู้จักกันต่อมาว่าเป็นทางเด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
ในระยะเริ่มต้นโคลัมบัสและนักสำรวจสเปนก็ผิดหวังกับการค้นพบต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกับแอฟริกาหรือเอเชีย ชาวหมู่เกาะแคริบเบียนดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่ค้าขายกับสเปนได้ ฉะนั้นหมู่เกาะเหล่านี้จึงกลายมาเป็นจุดสำคัญในการยึดเป็นอาณานิคมแทนที่ จนกระทั่งเมื่อตัวทวีปเองได้รับการสำรวจสเปนจึงพบความมั่งคั่งที่พยายามแสวงหามานานในรูปของทองจำนวนมหาศาล สเปนพบจักรวรรดิต่างๆ ในทวีปอเมริกาที่ทั้งใหญ่และมีประชากรพอๆ กับยุโรปเอง และสเปนก็สามารถพิชิตดินแดนเหล่านี้ได้โดยผู้พิชิตสเปน (conquistador) เพียงจำนวนไม่กี่คนกับกองทัพของชนท้องถิ่น จักรวรรดิสำคัญๆ ที่สเปนพิชิตได้ก็ได้แก่จักรวรรดิแอซเท็คในเม็กซิโกที่พิชิตได้ในปี ค.ศ. 1521 และ จักรวรรดิอินคาในเปรูปัจจุบันที่พิชิตได้ในปี ค.ศ. 1532 ในช่วงนี้ยุโรปประสับกับปัญหาโรงระบาดร้ายแรง เช่นฝีดาษที่นำความหายนะมาสู่ประชากรในทวีปอเมริกาใต้อย่างย่อยยับ หลังจากก่อตั้งอำนาจการปกครองขึ้นแล้วสเปนก็เริ่มส่งทองและเงินที่พบกลับสเปน
แผนที่การสำรวจรอบโลกของเฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน (ค.ศ. 1519-ค.ศ. 1522)
ในปี ค.ศ. 1519 ราชบัลลังก์สเปนก็ให้ทุนนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน จุดประสงค์ของการสำรวจครั้งนี้ก็เพื่อหาเส้นทางไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศโดยการเดินทางไปทางตะวันตก ซึ่งถ้าพบก็จะทำให้สเปนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมืองในบริเวณภูมิภาคนี้ของโลก[11] คณะการสำรวจสามารถข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนพบหมู่เกาะเครื่องเทศได้และเป็นนักเดินทางกลุ่มแรกที่ทำการเดินเรือรอบโลก (circumnavigation) และเดินทางกลับสเปนอีกสามปีต่อมา แต่มาเจลลันมิได้นำชัยชนะกลับสเปนด้วยตนเองเพราะมาเสียชีวิตในยุทธการมัคตาน (Battle of Mactan) ในฟิลิปปินส์เสียก่อน ซึ่งทำให้ต้องทิ้งให้ Juan Sebastián Elcano เป็นผู้นำในการเดินทางสำรวจต่อจนจบ ในบางด้านการสำรวจประสบความล้มเหลวเพราะเป็นเส้นทางที่ไม่เหมาะสมกับการที่จะใช้เป็นเส้นทางการค้า ช่องแคบมาเจลลัน (Strait of Magalhães) อยู่ไกลไปทางใต้จนเกินไป และมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ฉะนั้นเส้นทางนี้จึงไม่สามารถใช้แทนการเดินทางรอบแอฟริกาของโปรตุเกสได้[12] สเปนสามารถสร้างอำนาจในภูมิภาคแปซิฟิกแต่ไม่ใช่จากการสำรวจที่ทำโดยมาเจลลัน แต่จากเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ที่พบโดยนักสำรวจอื่นๆ เส้นทางตะวันออกไปยังฟิลิปปินส์เดินเป็นครั้งแรกโดยอัลวาโร เดอ ซาเวดรา (Alvaro de Saavedra) ในปี ค.ศ. 1527 เส้นทางตะวันตกขากลับยากกว่าแต่ในที่สุดก็พบโดยอันเดรส์ เดอ อูร์ดาเนตา (Andrés de Urdaneta) ในปี ค.ศ. 1565[13] เส้นทางนี้ใช้โดยกองเรือมะนิลา (Manila galleon) อยู่เป็นเวลานาน กองเรือมะนิลาเป็นกองเรือค้าขายซึ่งเป็นการเชื่อมการค้าขายระหว่างจีน ทวีปอเมริกา และ ยุโรป โดยเส้นทางทรานสแปซิฟิก และ เส้นทางทรานสแอตแลนติก (Transatlantic)

[แก้] การหดตัวของเอกสิทธิ์ของโปรตุเกส

เมื่อได้รับการพิทักษ์จากสเปนผู้เป็นคู่แข่งโดยสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส โปรตุเกสก็ดำเนินการสำรวจและการยึดอาณานิคมต่อไป และเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางไปถึงและติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น ในรัชสมัยของพระเจ้ามานูเอลที่ 1 ราชบัลลังก์โปรตุเกสก็ดำเนินโครงการที่จะควบคุมดินแดนและเส้นทางการค้าขายที่พบมา ยุทธวิธีของแผนการนี้คือการสร้างป้อมตามเมืองท่ารายทางเพื่อที่จะใช้ในการควบคุมเส้นทางการค้าขายหลักทางตะวันออก ฉะนั้นป้อมและอาณานิคมจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นบนอาณานิคมโกลด์โคสต์ (Colony of Gold Coast), ลูอันดา, โมซัมบิก, แซนซิบาร์, มอมบาซา, โซโคทรา, ออร์มุซ, โกลกาตา, รัฐกัว, บอมเบย์, รัฐมะละกา, มาเก๊า, และ เกาะติมอร์
แต่โปรตุเกสมีปัญหาในการขยายจักรวรรดิลึกจากฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินที่พบ ส่วนใหญ่ก็มุ่งมั่นอยู่แต่กับการสร้างเสริมบริเวณชายทะเล โปรตุเกสเป็นราชอาณาจักรมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะมีกำลังคนหรืองบประมาณพอที่จะบริหารและป้องกันอาณานิคมและเส้นทางการค้าต่างๆ ที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ ป้อมที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีกำลังคนที่จะรักษาและไม่มีอาวุธพอเพียง โปรตุเกสจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันกับมหาอำนาจที่แข็งแกร่งกว่าที่เริ่มขยายอำนาจเข้ามาในเส้นทางการค้าของตนเองได้ วันแห่งความมีเอกสิทธิ์ในการค้าขายกับตะวันออกก็เริ่มจะนับวันได้ ในปี ค.ศ. 1580 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนก็กลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสด้วย พระองค์ทรงเป็นทายาทที่ถูกต้องของลูกพี่ลูกน้องของพระองค์พระเจ้าเซบาสเตียนแห่งโปรตุเกสผู้เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท (พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ามานูเอลที่ 1) แต่การรวมสองจักรวรรดิอันใหญ่หลวงก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากผู้ท้วงติง นักสำรวจฝ่ายดัตช์, ฝรั่งเศส และอังกฤษก็หันหลังให้กับ “พระบัญญัติแบ่งโลก” (Inter caetera) ซึ่งเป็นพระบัญญัติที่ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มอบสิทธิในการเป็นเจ้าของดินแดนที่พบให้แก่เสปน การก่อตั้งสถานีการค้าเพิ่มขึ้นโดยดัตช์, ฝรั่งเศส และอังกฤษทางตะวันออกก็ทำให้ประเทศเหล่านั้นมั่งคั่งขึ้น ขณะเดียวกันโปรตุเกสก็เริ่มอ่อนแอลงจากการสูญเสียสถานีการค้าและอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตก, ตะวันออกกลาง และ ตะวันออกไกล บอมเบย์ถูกยกให้เป็นของขวัญการเสกสมรสของเจ้าหญิงโปรตุเกสกับพระมหากษัตริย์อังกฤษ ดินแดนอื่นเช่นมาเก๊า, เกาะติมอร์, รัฐกัว และ โมซัมบิกยังคงอยู่ในความครอบครองของโปรตุเกส ขณะที่บราซิลและแองโกลากู้คืนมาได้จากดัตช์

[แก้] การเข้าเกี่ยวข้องของยุโรปเหนือ

แผนที่อาเบล ทัสมันของปี ค.ศ. 1644 หรือที่เรียกว่าแผนที่โบนาปาร์ตทัสมันเป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดแห่งรัฐแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย
ประเทศนอกคาบสมุทรไอบีเรียต่างก็ไม่ยอมรับสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และ อังกฤษต่างก็มีประวัติทางทะเลมาเป็นเวลานาน แม้ว่าไอบีเรียจะพยายามปกปิดความคืบหน้าต่างๆ ทางการเดินเรือ แต่ในที่สุดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแผนที่ก็เผยแพร่ขึ้นมาทางตอนเหนือของยุโรป
โครงการการสำรวจแรกของยุโรปเหนือในปี ค.ศ. 1497 เป็นโครงการของอังกฤษที่นำโดยชาวอิตาลี, จอห์น แค็บบอท (จิโอวานนิ คาโบโต) ซึ่งเป็นโครงการที่ตามมาด้วยโครงการอื่นอีกหลายโครงการของฝรั่งเศสและอังกฤษในการสำรวจอเมริกาเหนือ สเปนพยายามดำเนินการสำรวจทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีกำลังคนพอ เพราะกำลังคนและงบประมาณส่วนใหญ่ไปมุ่งอยู่กับการสำรวจตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาที่สเปนทราบอยู่แล้วว่าเป็นขุมทอง ในปี ค.ศ. 1524 จิโอวานนิ ดา แวร์ราซซาโน (Giovanni da Verrazzano) กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปถึงฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน การเดินทางสำรวจของแค็บบอท, ฌาก การ์ตีเย (การสำรวจครั้งแรก ค.ศ. 1534) และนักสำรวจอื่นๆ เป็นการสำรวจที่มีจุดประสงค์ในการแสวงหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Passage) ในการใช้เป็นเส้นทางการค้ากับเอเชีย[ต้องการอ้างอิง] และช่องทางที่ว่าก็ไม่เป็นที่พบ แต่การเดินทางก็ทำให้พบสิ่งอื่นๆ และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักล่าอาณานิคมจากหลายประเทศจากทางตอนเหนือของยุโรปก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งทะเลทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ
การขยายตัวของยุโรปเหนือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอำนาจของโปรตุเกสในแอฟริกาและในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ดัตช์, ฝรั่งเศส และอังกฤษส่งเรือไปผ่านไปในดินแดนที่เป็นของโปรตุเกส แต่โปรตุเกสก็ไม่มีหนทางใดที่จะหยุดยั้งได้เพราะขาดกำลังคนและทุนทรัพย์ นอกจากนั้นประเทศเหล่านี้ก็ยังก่อตั้งสถานีค้าขายของตนเองขึ้นมาด้วย ส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ของโปรตุเกสและสเปนก็เริ่มลดลง[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนั้นแล้วยุโรปเหนือก็ขยายการสำรวจไปยังบริเวณที่ยังไม่ได้รับการสำรวจในมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งทะเลทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ นักสำรวจดัตช์เช่น วิลเล็ม ฟานส์ซุน (Willem Janszoon) และ อาเบล ทัสมันเดินทางไปสำรวจฝั่งทะเลของทวีปออสเตรเลีย ขณะที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักสำรวจชาวอังกฤษเจมส์ คุกเป็นผู้เขียนแผนที่โพลินีเซีย คุกเดินทางไกลไปถึงอะแลสกาโดยทิ้งชื่อต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึกเช่นอ่าวบริสตอล หรืออ่าวเล็กคุกในอะแลสกา

[แก้] การสิ้นสุดของยุคแห่งการสำรวจ

เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรือของยุโรปก็ได้รับการวัฒนาการดีขึ้นจนนักเดินเรือผู้มีผู้เชี่ยวชาญสามารถนำเดินทางไปยังจุดหมายใดก็ได้ในโลก การสำรวจทางทะเลก็ยังคงดำเนินต่อไป ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฝั่งตะวันตกและฝั่งเหนือของออสเตรเลียก็ได้รับการเขียนเป็นแผนที่ แต่ฝั่งตะวันออกยังคงต้องรอต่อมาอีกร้อยปี ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มหาสมุทรแปซิฟิกก็กลับมาเป็นจุดสนใจของนักสำรวจ และทะเลอาร์คติกและอันตาร์กติกก็ไม่ได้รับการสำรวจจนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักสำรวจเข้าไปถึงใจกลางของทวีปอเมริกาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และก็ยังคงมีอาณาบริเวณที่ยังไม่ได้รับการสำรวจจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ดินแดนตอนกลางของออสเตรเลียและแอฟริกาไม่ได้รับการสำรวจโดยชาวยุโรปจนคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะในบริเวณเหล่านี้ไม่มีแน้วโน้มที่มีประโยชน์ต่อการค้าขาย นอกจากนั้นก็ยังเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยโรคร้ายของเมืองร้อนต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

[แก้] ผลกระทบกระเทือนต่อโลกของยุคแห่งการสำรวจ

เรือคาร์แร็คของโปรตุเกสที่นะงะซะกิในญี่ปุ่น คริสต์ศตวรรษที่ 17 การมาถึงของโปรตุเกสในปี ค.ศ. 1543 เป็นการเริ่มสมัยการค้านันบัน (Nanban trade) โดยญี่ปุ่นรับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมบางอย่างของโปรตุเกสเช่นปืนไฟ, เสื้อเกราะควิราส (Cuirass), การต่อเรือแบบยุโรป, คริสต์ศาสนา, ศิลปะการตกแต่ง และ ภาษา
เส้นทางข้ามมหาสมุทร (Trans-Oceanic) ใหม่นี้เป็นการนำมหาอำนาจยุโรปเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมเมื่อยุโรปเข้ามาควบคุมประเทศต่างๆ เกือบทั้งโลก ความต้องการของยุโรปในการทำการค้าขาย หาวัตถุดิบ ค้าทาส และขยายจักรวรรดิมีผลต่อบริเวณต่างๆ ของโลก สเปนดำเนินนโยบายการทำลายวัฒนธรรมต่างๆ ในทวีปอเมริกาจนวอดวาย และแทนที่วัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยวัฒนธรรมของตนเองและบังคับให้ชนท้องถิ่นละทิ้งประเพณีทางศาสนาของตนเองและเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา พฤติกรรมนี้กลายเป็นมาตรฐานทั่วไปของชาติต่างๆ ในยุโรปในการปฏิบัติต่อดินแดนต่างๆ ที่เข้ายึดครองโดยเฉพาะดัตช์, รัสเซีย, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ศาสนาใหม่เข้ามาแทนที่ศาสนาที่ชาวยุโรปถือว่าเป็น “ลัทธิเพกัน” นอกจากศาสนาแล้วก็ยังมีการบังคับใช้ภาษา ระบบการบริหาร และประเพณีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศในบริเวณต่างๆ เช่นอเมริกาเหนือ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และ อาร์เจนตินา ชนท้องถิ่นถูกขับออกจากที่อยู่อาศัยเดิมหรือถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่เจ้าของอาณานิคมก่อตั้งให้ ประชากรท้องถิ่นถูกลดจำนวนลงไปเป็นจำนวนมาก และในที่สุดก็กลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องอาศัยพึ่งพารัฐบาลของอาณานิคมที่เข้ามายึดครอง
ทางฝั่งแอฟริกาก็เช่นกัน รัฐต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของการค้าทาสซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบริเวณไม่แต่เพียงชายฝั่งของแอฟริกา และทางโครงสร้าของสังคมและทางเศรษฐกิแต่ยังลึกเข้าไปถึงใจกลางของทวีปด้วย
ในอเมริกาเหนือชาวยุโรปก็มีปัญหากับชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะเข้ามายึดครอง ชาวยุโรปได้เปรียบกว่าชนพื้นเมืองหลายประการ นอกจากนั้นแล้วก็ยังนำเชื้อโรคใหม่เข้ามาเผยแพร่ที่เป็นผลให้จำนวนประชากรพื้นเมืองที่ไม่เคยประสบกับเชื้อโรคใหม่นี้ต้องเสียชีวิตไปถึง 50-90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[14]

[แก้] ผลกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของยุคแห่งการสำรวจต่ออำนาจของยุโรป

เมื่อสินค้าต่างๆ ที่เคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมาจากการสำรวจเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นก็ทำให้ราคางสินค้าเหล่านี้เริ่มคงตัว การค้าขายทางมหาสมุทรแอตแลนติกมาแทนที่อำนาจการค้าขายของอิตาลีและเยอรมนีที่เคยใช้ทะเลบอลติกในการเดินทางขนส่งสินค้ากับรัสเซีย และมาแทนการค้าขายผ่านชาติอิสลาม นอกจากนั้นสินค้าใหม่ก็ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โครงสร้างทางสังคม เมื่อน้ำตาล, เครื่องเทศ, ไหม และเครื่องถ้วยชามของจีนเข้ามาในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของยุโรป ความมั่งคั่งที่สเปนประสบประจวบกับภาวะเงินเฟ้อทั้งภายในสเปนและยุโรปโดยทั่วไป ภายในไม่กี่สิบปีการทำเหมืองในทวีปอเมริกาก็มีผลผลิตมากกว่าการทำเหมืองในยุโรปเอง สเปนยิ่งต้องพึ่งรายได้จากการค้าจากทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้นจนในที่สุดก็นำไปสู่การล้มละลายของสเปนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1557 ที่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางการทหารที่มากขึ้นจนเกินตัว[15] การทวีตัวของราคาเป็นผลให้มีการหมุนเวียนทางการเงินในยุโรปมากขึ้นและทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในบรรดาชนชั้นกลางในยุโรป ที่มามีอิทธิพลต่อสถานะภาพทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมในหลายประเทศในยุโรปโดยทั่วไป

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ "Ancient Silk Road Travelers". www.silk-road.com. http://www.silk-road.com/artl/srtravelmain.shtml. Retrieved 2008-07-02. 
  2. ^ 2.0 2.1 Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 328
  3. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 329
  4. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 332
  5. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance ยุโรป 2nd ed. pg. 333
  6. ^ Daus, Ronald (1983). Die Erfindung des Kolonialismus. Wuppertal/Germany: Peter Hammer Verlag. pp. 33. ISBN 3-87294-202-6. 
  7. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 334
  8. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 335
  9. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 341
  10. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 345
  11. ^ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 349
  12. ^ Fernandez-Armesto, Felipe (2006). Pathfinders: A Global History of Exploration. W.W. Norton & Company. pp. 200. ISBN 0-393-06259-7. 
  13. ^ Fernandez-Armesto, Felipe (2006). Pathfinders: A Global History of Exploration. W.W. Norton & Company. pp. 202. ISBN 0-393-06259-7. 
  14. ^ The Story Of... Smallpox – and other Deadly Eurasian Germs
  15. ^ Savoring Africa in the New World by Robert L. Hall Millersville University

[แก้] บรรณานุกรม

  • Cipolla, Carlo Cipolla. European Culture and Overseas Expansion. 
  • Bernard DeVoto (1952). The Course of Empire. Houghton Mifflin. 
  • Fiske, John (1892). The Discovery of America: With Some Account of Ancient America and the Spanish Conquest. Houghton Mifflin. 
  • Love, Ronald S. (2006). Maritime Exploration in the Age of Discovery, 1415-1800. Greenwood Press. 
  • O'Sullivan, Daniel. The Age of Discovery. 
  • Perry, J. H.. The Discovery of the Sea. 
  • Penrose, Boies. Travel and Discovery in the Renaissance: 1420–1620. 
  • Sletcher, Michael Sletcher (2005). "British Explorers and the Americas". In Will Kaufman and Heidi Macpherson. Britain and the Americas: Culture, Politics, and History. Oxford University Press. 
  • Wright, John K. (March 1947). "Terrae Incognitae: The Place of the Imagination in Geography". Annals of the Association of American Geographers 37(1) (ฉบับที่): 1–15. การค้าขายเครื่องเทศ

1 ความคิดเห็น: